แนวทาง “ระลึกรู้สึกใจ” เป็นอย่างไร?

การปฏิบัติในแนวทาง “ระลึกรู้สึกใจ” โดยอาศัยหลักธรรมที่สำคัญตามคำสอนของพระพุทธองค์ มีแนวทางดังต่อไปนี้

1. การปฏิบัติภาวนาต้องเจริญตามแนวทางของอริยสัจ 4 ผลการปฏิบัติจึงจะสามารถนำทุกข์ออกจากใจจนถึงการพ้นทุกข์ได้
2. การปฏิบัติภาวนาที่ถูกต้อง จะต้องมุ่งในการละกิเลสเป็นสำคัญ โดยการเจริญทางสายกลาง หรือมรรคมีองค์ 8 อย่างต่อเนื่องจนเข้าถึง “อริยมรรค” หลักปหานกิจและภาวนากิจ จึงเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญในพุทธศาสนา และเป็นไปตามครรลองแห่งอริยสัจ 4 โดยแท้จริง
3. ศีลที่ใจ คือ เจตนางดเว้นไม่ให้บาปใด ๆ เข้ามาสู่ใจ ถ้าไม่มีสติ สัมปชัญญะ กำกับที่ใจ ศีลที่ใจก็ไม่ปรากฏ ใจย่อมไม่สุจริต ไม่บริสุทธิ์ จึงจำเป็นต้องเจริญสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา หรือทางสายกลางให้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง
4. ถ้ายังไม่สามารถเจริญสติสัมปชัญญะได้อย่างต่อเนื่อง หนทางที่จะเข้าถึงหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาย่อมไม่ปรากฏ จะมีเพียงรู้ธรรม เข้าใจธรรมจากพระสูตรหรือจากการฟังธรรม
5. การปฏิบัติภาวนาจะต้องสามารถเจริญกุศลธรรมให้ปรากฏที่ใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาให้โพธิปักขิยธรรม 37 ประการได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และมรรคมีองค์ 8 อันจะนำไปสู่การเกิด อริยมรรค
6. “ระลึกรู้สึกใจ” คือ การเจริญสติให้เฝ้ากำกับดูแลใจโดยเข้าไปรู้สึกถึงความรู้สึกที่ใจว่า ขณะนั้นใจรู้สึกอย่างไรและเฝ้าดูความรู้สึกนั้นอย่างต่อเนื่อง การทำงานของสติสัมปชัญญะ จะเกิดขึ้นโดยลำดับ
7. สภาวธรรมที่จะเกิดต่อจากนั้นคือ การ ”เจริญมรรค” นั่นเอง ผู้ปฏิบัติที่ “ดูจิต” ได้ถูกต้อง ย่อมหยั่งรู้ได้ด้วยตนเองว่า การดูจิตคือการเจริญมรรค สามารถละกิเลสได้ และผู้ปฏิบัติที่มีความสามารถในการ “ดูจิต” ได้ ย่อมเห็นผลจากการเข้าถึงสภาวธรรมภายในจิต คือ “เห็นธรรม” ที่พึงเห็นได้
8. การภาวนาที่สามารถเจริญสติสัมปชัญญะให้ปรากฏที่ใจได้ จะนำให้เกิด “สัมมาสมาธิ” เป็นสมาธิที่ทำให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง หากมิใช่ “สัมมาสมาธิ” เป็นเพียงสมาธิที่ทำให้ใจสงบ จะไม่เกิดปัญญาละกิเลสใด ๆ ไม่ได้ เป็นแต่เพียงข่มกิเลสไว้ไม่ให้ขึ้นมาทำงาน
9. การปฏิบัติภาวนา เพื่อนำไปสู่การบรรลุมรรคผล จะต้องเจริญวิปัสสนาให้ปรากฏอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิปัสสนาชั้นสูง จึงจะบรรลุมรรคผลได้
10. การปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น (วิมุตติ) จำเป็นต้องอาศัยหลักธรรมที่สำคัญมาปฏิบัติ คือ การปล่อยวางทุกสิ่ง แม้ธรรมทั้งหลายที่ได้จากการภาวนา โดยอาศัยปัญญา